อั้นไม่ไหว สินค้าพาเหรดขึ้นราคา “พณ.” เรียกผู้ผลิตถกสัปดาห์นี้

April 2, 2022 0 Comments

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 1 เม.ย.65 เป็นวันแรกที่กระทรวงพลังงานปรับขึ้นราคาก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) เดือนละ 1 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) โดยปรับขึ้นตลอด 3 เดือน (เม.ย.-มิ.ย.65) รวม 3 บาทต่อ กก. ส่งผลให้ราคาก๊าซหุงต้มขยับจาก 318 บาทต่อถัง 15 กก. เป็น 333 บาทต่อถัง 15 กก.ในเดือน เม.ย. ปรับราคาครั้งที่ 2 เดือน พ.ค. ราคาอยู่ที่ 348 บาทต่อถัง 15 กก. และปรับครั้งที่ 3 เดือน มิ.ย. ราคาอยู่ที่ 363 บาทต่อถัง 15 กก. ทั้งนี้ การปรับขึ้นดังกล่าวเป็นการปรับตามขั้นบันได เนื่องจากราคาต้นทุนแท้จริงปรับขึ้นสูงกว่า 450 บาทต่อถัง 15 กก.แล้ว โดยรัฐบาลได้นำเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เข้าไปดูแลส่วนต่าง จนทำให้สถานะกองทุนน้ำมันฯ ล่าสุด วันที่ 27 มี.ค.65 บัญชีแอลพีจีติดลบแล้ว 29,368 ล้านบาท บัญชีน้ำมันติดลบ 8,224 ล้านบาท ส่งผลให้ฐานะสุทธิกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงติดลบแล้ว 37,592 ล้านบาท

สำหรับผู้มีรายได้น้อย กระทรวงพลังงานได้ช่วยเหลือผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เพิ่มวงเงินช่วยเหลือในบัตรอีก 55 บาทต่อ 3 เดือน เป็น 100 บาทต่อ 3 เดือน จาก 45 บาทต่อ 3 เดือน โดยช่วยเหลือ 3 เดือน (เม.ย.-มิ.ย.65) ใช้งบกลางประมาณ 200 ล้านบาท ขณะที่ผู้ค้าหาบเร่แผงลอยที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐราว 5,500 คน บมจ.ปตท.ได้ช่วยเหลือมอบส่วนลดซื้อก๊าซหุงต้มเดือนละ 100 บาท เป็นเวลา 3 เดือน (เม.ย.-มิ.ย. 65) วงเงินช่วยเหลือ 1.65 ล้านบาท

แหล่งข่าวจากกระทรวงพาณิชย์กล่าวว่า จากการตรวจสอบการขึ้นราคามีบางยี่ห้อสินค้าชี้แจงว่าเป็นการปรับราคาระหว่างผู้ผลิตและค้าส่ง หรือส่วนหนึ่งลดการทำโปรโมชั่นแทนการปรับราคาขายปลีกเพื่อไม่กระทบต่อฐานลูกค้า แต่มีร้านทั่วไปบางแห่งผลักไปที่ลูกค้าบางส่วนกับราคาที่ถูกปรับราคาชึ้นจากผู้ผลิต

ร้อยตรีจักรา ยอดมณี รองอธิบดีกรมการค้าภายในกล่าวว่า การปรับขึ้นราคาก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) มีผลต่อต้นทุนในการประกอบอาหารเพียงเล็กน้อย เนื่องจากก๊าซหุงต้ม 1 ถัง ใช้ทำอาหารได้ 200-300 จาน ดังนั้นการปรับขึ้นราคาก๊าซหุงต้ม จึงไม่ควรเป็นเหตุผลให้ร้านอาหารปรับขึ้นราคา โดยกรมจะติดตามสถานการณ์ราคาอาหารอย่างใกล้ชิด เน้นย้ำให้ผู้ประกอบการปิดป้ายแสดงราคาให้ชัดเจน และห้ามฉวยโอกาสปรับขึ้นราคาโดยเด็ดขาด

โดยราคาก๊าซหุงต้มที่เพิ่มขึ้น ไม่มีผลทำให้ราคาอาหารต้องปรับขึ้น หากพบเห็นการจำหน่ายสินค้าหรือบริการที่ไม่เป็นธรรม แจ้งได้ที่สายด่วน 1569 หรือสำนักงานพาณิชย์จังหวัดทุกจังหวัด จะดำเนินการตามกฎหมาย โดยกรณีค้ากำไรเกินควร กักตุนสินค้าหรือปฏิเสธการจำหน่ายต้องโทษจำคุก 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนกรณีไม่ติดป้ายแสดงราคาจะมีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท

ส่วนกรณีที่มีข่าวว่าสินค้าอุปโภคบริโภคบางชนิด เช่น ซอสปรุงรส และผงซักฟอก (ผลิตภัณฑ์ซักล้าง) ปรับขึ้นราคาขายนั้น กรมได้ติดตามสถานการณ์ราคาและต้นทุนสินค้าอุปโภคบริโภคมาตลอด โดยเฉพาะสินค้าที่จำเป็นต่อการครองชีพ 18 หมวด เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป,อาหารสด (ไข่ไก่ เนื้อสัตว์), อาหารกระป๋อง, ข้าวสารถุง, ซอสปรุงรส, น้ำมันพืช, นมและผลิตภัณฑ์จากนม, เครื่องใช้ไฟฟ้า, ผลิตภัณฑ์ซักล้าง, ปุ๋ย, ยาฆ่าแมลง, เหล็ก, ปูนซีเมนต์, ยาเวชภัณฑ์และบริการทางการแพทย์และบริการผ่านห้างค้าปลีก-ส่ง ขณะนี้ยังไม่ได้อนุญาตให้ปรับขึ้นราคา แต่สัปดาห์นี้จะเชิญผู้ผลิตสินค้ากลุ่มซอสปรุงรส และผงซักฟอกมาหารือ เพื่อกำชับเรื่องราคา และจะประชุมร่วมกับห้างค้าส่งค้าปลีก เพื่อติดตามสถานการณ์ราคาและให้เตรียมสต๊อกสินค้าให้เพียงพอต่อการจำหน่ายในช่วงสงกรานต์ด้วย

นายอาวุธ วงศ์สวัสดิ์ รองอธิบดีกรมการค้าภายในกล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมการค้าภายใน ได้ดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อลดภาระค่าครองชีพประชาชนมาอย่างต่อเนื่อง อาทิ โครงการ “Mobile พาณิชย์…ลดราคา! ช่วยประชาชน” ซึ่งสามารถช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายให้กับประชาชนและยังเป็นการป้องกันฉวยโอกาสปรับราคาโดยไม่เป็นธรรม โดยที่ผ่านมาได้รับเสียงตอบรับที่ดีจากประชาชน กรมฯ จึงได้เดินหน้าจัดทำโครงการ “Mobile พาณิชย์…ลดราคา! ช่วยประชาชน” ระหว่างวันที่ 1 – 30 เมษายน 2565 เพื่อออกจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อการครองชีพให้แก่ประชาชนในราคาประหยัด กว่า 47 รายการ เช่น ซอสปรุงรส ครีมอาบน้ำ สบู่ แชมพู น้ำยาล้างจาน น้ำยาซักผ้า น้ำยาปรับผ้านุ่ม ยาสีฟัน หน้ากากอนามัย เป็นต้น โดยลดราคาสูงสุด 60% ซึ่งมีสินค้าไฮไลท์ 3 รายการ ได้แก่ ไข่ไก่ เบอร์ M ราคาแผงละ 105 บาท น้ำตาล ราคากิโลกรัมละ 20 บาท และข้าวหอมมะลิ (ถุงละ 5 กก.) ราคาถุงละ 120 บาท อีกทั้งยังมีการจำหน่ายผลไม้ที่ช่วยกระจายผลผลิตจากเกษตรกรถึงมือผู้บริโภคโดยตรง ซึ่งจะช่วยยกระดับราคาและสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรอีกทางหนึ่งด้วย

โดยโครงการดังกล่าว จะดำเนินการผ่านช่องทาง Mobile 25 คัน และจุดจำหน่าย 50 จุดในแหล่งชุมชน การเคหะ และสำนักงานเขตทั่วกรุงเทพมหานคร ซึ่งที่ผ่านมากรมฯ ได้ดำเนินโครงการเพื่อลดภาระค่าครองชีพให้แก่ประชาชน รวมกว่า 2,000 จุดทั่วประเทศ สามารถลดภาระค่าครองชีพได้กว่า 124 ล้านบาท ทั้งนี้ ประชาชนที่สนใจซื้อสินค้า สามารถติดตามสถานที่จำหน่ายสินค้าแบบเรียลไทม์ได้ที่ LINE @mobilepanich รวมถึงเว็บไซต์ https://mobilepanich.com/

นอกจากนี้ เพื่อป้องปรามไม่ให้ผู้ประกอบการมีการฉวยโอกาสปรับขึ้นราคาสินค้าโดยไม่เป็นธรรม กรมการค้าภายในจะส่งเจ้าหน้าที่ออกตรวจสอบและติดตามสถานการณ์ราคาสินค้าอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภค สินค้าที่จำเป็นต่อการครองชีพ พร้อมกำชับให้ผู้ประกอบการปิดป้ายแสดงราคาให้ชัดเจน รวมทั้งตรวจสอบความถูกต้องของเครื่องชั่ง ทั้งนี้ หากพบประชาชนพบเห็นการจำหน่ายสินค้าหรือบริการที่ไม่เป็นธรรม แจ้งได้ที่สายด่วน 1569 หรือสำนักงานพาณิชย์จังหวัดทุกจังหวัด

อ้างอิง
https://siamrath.co.th/economy