เศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 รุมเร้าด้วยปัจจัยเสี่ยง แต่เห็นโอกาสขยายตัวเร่งขึ้นจากไตรมาสแรก
ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย และที่ปรึกษาการลงทุน ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า ตั้งแต่ต้นปีเป็นต้นมา เศรษฐกิจไทยเผชิญความผันผวนจากความไม่แน่นอน ทั้งจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน การระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) ที่ทำให้ราคาเนื้อสัตว์และไข่ไก่แพง ตามมาด้วยสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนที่นำไปสู่ปัญหาราคาน้ำมันพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว และสร้างความกังวลต่อการเร่งขึ้นของเงินเฟ้อทั่วโลกไม่แค่เฉพาะไทย นอกจากนี้ การดำเนินนโยบายการเงินแบบเข้มงวดของธนาคารกลางสหรัฐฯ รวมทั้งฟากเอเชียเผชิญความเสี่ยงของการออกมาตรการควบคุมกฎระเบียบต่อบริษัทจีน และการกลับมาออกมาตรการล็อกดาวน์เพื่อควบคุมการระบาดของโควิดอีกครั้งในประเทศจีน โดยรวมปัจจัยเหล่านี้น่าจะส่งผลให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงกว่าที่คาดไว้ โดยเฉพาะการเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด รวมทั้งการลดงบดุลเพื่อสกัดเงินเฟ้อที่จะยิ่งทำให้การใช้จ่ายและการลงทุนภาคเอกชนชะลอต่อเนื่องได้ในปีนี้ ด้วยปัจจัยเสี่ยงที่รุมเร้าเช่นนี้ สำนักวิจัยฯ ได้ปรับลดการคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจปีนี้ลงจาก 3.8% เหลือ 3.1% หลังจากที่เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ 1.6% ในปี 2564
แม้โลกเต็มไปด้วยความผันผวน แต่เศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องจากปีก่อน หลังเผชิญปัญหาโควิด-19 ช่วงไตรมาส 2 ต่อเนื่องและรุนแรงขึ้นในไตรมาส 3 โดยต้นปีนี้การส่งออกยังคงขยายตัวโดดเด่น แม้มีปัญหาค่าระวางเรือสูง การขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ และปัญหาการขาดแคลนชิปเซมิคอนดักเตอร์ที่กระทบภาคการผลิตกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์ แต่เศรษฐกิจประเทศสำคัญยังมีความต้องการสินค้าที่สูง แม้อาจไม่ได้เร่งแรงเหมือนปีก่อนตามปัญหาเงินเฟ้อในแต่ละประเทศที่กดดันการบริโภคและการลงทุน แต่เศรษฐกิจในหลายประเทศยังเติบโตได้สูงกว่าศักยภาพ ซึ่งเป็นผลดีต่อการส่งออกไทยในปีนี้ นอกจากนี้ การบริโภคภาคเอกชนของไทยช่วงไตรมาสแรกยังน่าจะประคองตัวได้ โดยได้รับแรงสนับสนุนจากกำลังซื้อระดับกลางถึงบนที่มีความเชื่อมั่นและความมั่นคงทางการเงิน ตลอดจนมาตรการภาครัฐที่สนับสนุนการบริโภคผ่านการลดหย่อนภาษีน่าจะช่วยให้การใช้จ่ายไม่ได้ชะลอแม้จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันพุ่งสูง อีกทั้งรัฐได้มีมาตรการประคองกำลังซื้อผ่านมาตรการคนละครึ่ง ซึ่งน่าจะช่วยสนับสนุนการใช้จ่ายในหมวดอาหารและเครื่องดื่มได้บ้าง ส่วนการท่องเที่ยวยังไม่ได้ฟื้นตัวมากนักในช่วงไตรมาสแรก เนื่องจากการระบาดของสายพันธุ์โอมิครอนได้ทำให้รัฐบาลเพิ่มความเข้มงวดในการรับชาวต่างชาติเข้าประเทศ รวมถึงความเชื่อมั่นนักเดินทางที่ลดลงจากปัญหารัสเซียและยูเครน โดยเฉพาะเมื่อค่าเงินของรัสเซียอ่อนค่าลงแรง กระทบความสามารถในการใช้จ่ายของคนรัสเซียและมีผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวลดลง
มองต่อไปในช่วงไตรมาส 2 เศรษฐกิจไทยน่าจะขยายตัวในอัตราที่เร่งขึ้นกว่าช่วงไตรมาสแรก โดยเราคาดว่า GDP ไทยในช่วงไตรมาส 2 จะขยายตัว 2.3% จากช่วงเวลาเดียวกันปีก่อนหรือ 0.8% เทียบไตรมาสต่อไตรมาสหลังปรับฤดูกาล โดยเราได้ตั้งข้อสังเกตของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจช่วงไตรมาส 2 ไว้ดังนี้
– การท่องเที่ยวกระเตื้องขึ้น เมื่อความเชื่อมั่นฟื้น และเชื่อว่าคนอยู่ร่วมกับโควิดได้ การท่องเที่ยวน่าจะกระเตื้องขึ้น แม้จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันจะยังสูงกว่าหมื่นรายต่อวัน แต่เมื่อได้รับวัคซีนที่มีประสิทธิภาพมากพอ และอาการไม่รุนแรง รัฐบาลไม่น่าจะกลับมาล็อกดาวน์อีกและพร้อมเดินหน้าเปิดประเทศและลดข้อจำกัดต่างๆ ได้มากขึ้น อันเป็นผลดีต่อการท่องเที่ยวจากต่างชาติและคนไทยในประเทศ อย่างไรก็ดี เราไม่ได้คาดหวังจำนวนนักท่องเที่ยวในช่วงไตรมาส 2 มากกว่า 5 แสนราย เนื่องจากไม่ได้เป็นฤดูกาลท่องเที่ยวในฝั่งตะวันตก จีนยังไม่เปิดประเทศ และปัญหาค่าเงินรัสเซียอ่อนค่าน่าจะทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวรัสเซียลดลง
– รายได้ภาคเกษตรดีขึ้น จากปริมาณผลผลิตที่ออกมามากขึ้นตามระดับน้ำในเขื่อนที่มากกว่าปีก่อน ตลอดจนราคาสินค้าเกษตรที่โดยมากมีการเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกับราคาน้ำมัน ส่งผลให้รายได้จากการปลูกข้าว ยางพารา ปาล์ม อ้อย และมันสำปะหลังดีขึ้น และน่าจะเป็นผลดีต่อยอดขายรถมอเตอร์ไซค์ วัสดุการเกษตร และสินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไป อย่างไรก็ดี เนื่องจากรายได้ภาคเกษตรตกต่ำเป็นเวลานาน หนี้ครัวเรือนสูง อาจทำให้เงินไหลเวียนในระบบมีไม่มาก ขณะที่การใช้จ่ายภาคเอกชนโดยรวมน่าจะแผ่วจากรายได้นอกภาคเกษตรที่โตช้า ค่าครองชีพที่ทะยานขึ้นสูง และจากมาตรการเงินโอนจากรัฐบาลที่เริ่มสิ้นสุดลง โดยสินค้าที่น่าจะพอประคองไปได้น่าจะเป็นกลุ่มอาหาร และเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ แต่กลุ่มเสื้อผ้า รองเท้า และเฟอร์นิเจอร์น่าจะชะลอตัว ส่วนร้านอาหารอาจได้รับผลกระทบจากราคาอาหารที่ปรับตัวขึ้น ขณะที่กลุ่มโรงแรมและธุรกิจท่องเที่ยวยังเผชิญความท้าทายจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ยังต่ำ แต่น่าจะขยายตัวได้ดีกว่าในปีที่ผ่านมา ส่วนธุรกิจโรงพยาบาลและกลุ่มสุขภาพน่าจะขยายตัวได้ดีตามความต้องการป้องกันและรักษาสุขภาพในช่วงโควิดนี้
– การส่งออกยังขยายตัวในช่วงไตรมาส 2 แม้อาจชะลอไปบ้างจากไตรมาสแรก แต่ด้วยการส่งออกสินค้าเกษตร ปิโตรเคมี และสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ ที่ราคาขยับขึ้นตามราคาน้ำมันน่าจะพยุงการส่งออกได้ อีกทั้งการส่งออกสินค้ากลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วน อิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วน และกลุ่มอาหารแปรรูปที่ไทยมีความสามารถในการแข่งขันและตลาดสำคัญ เช่น สหรัฐฯ ยุโรป และอาเซียนยังคงเติบโตได้ นอกจากนี้ เงินบาทที่อ่อนค่าจะยังคงพยุงรายได้จากการส่งออกได้ แต่ที่น่ากังวลน่าจะเป็นกลุ่มผู้นำเข้า เนื่องจากต้นทุนการนำเข้าสินค้าสูงตามค่าเงินบาทที่อ่อนค่า และจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้นกดดันให้ไทยขาดดุลการค้าได้ในปีนี้ นอกจากนี้ กลุ่มที่มีสัดส่วนการนำเข้าเพื่อการผลิตที่สูงและตลาดส่วนใหญ่อยู่ในประเทศอาจได้รับผลกระทบแรงกว่ากลุ่มที่ใช้วัตถุดิบในประเทศเพื่อผลิตสินค้าเพื่อส่งออก
– การใช้จ่ายภาครัฐแผ่ว แม้มีมาตรการพยุงกำลังซื้อ แต่อาจมีข้อจำกัดเรื่องงบประมาณ จึงทำให้ไม่สามารถครอบคลุมผู้ได้รับผลกระทบจากค่าครองชีพที่สูงได้ทั้งหมด และอาจส่งผลให้กำลังซื้อของคนรายได้น้อยอ่อนแอลง โดยมาตรการพยุงค่าครองชีพที่ออกมา แม้มีส่วนช่วยให้คนสามารถใช้น้ำมันดีเซลในราคาถูก ลดต้นทุนการขนส่ง แต่อาจบิดเบือนกลไกตลาด และอาจทำให้ไทยขาดประสิทธิภาพในการใช้พลังงานในระยะยาว ซึ่งอาจเห็นการแยกคนที่ไม่ได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจเพื่อกันไม่ให้ได้ประโยชน์จากมาตรการนี้อันจะช่วยลดงบประมาณที่จำกัด แต่โดยสรุป การใช้จ่ายภาครัฐในปีนี้ที่ลดลงจากปีก่อนน่าจะไม่ใช่พระเอกในไตรมาส 2
– เอกชนอาจยังรอลงทุนโครงการใหม่ โดยเฉพาะหากมีความเสี่ยงด้านเสถียรภาพของรัฐบาลและแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เนื่องจากไทยกำลังก้าวเข้าสู่การเลือกตั้งผู้แทนราษฎร และกำลังจะเปลี่ยนรัฐบาลในอีก 12 เดือนข้างหน้า โดยการเปลี่ยนแปลงผ่านการเลือกตั้งจะเป็นกลไกสากลตามระบอบประชาธิปไตย และหากรัฐบาลปัจจุบันสร้างความชัดเจนว่า นโยบายการลงทุนจะไม่เปลี่ยนแปลงแม้ใครเข้ามาบริหารประเทศต่อก็ตาม จะช่วยให้ประเทศไทยเป็นที่หมายตาของนักลงทุนต่างชาติที่อยากย้ายฐานการผลิตจากจีนเพื่อเลี่ยงการล็อกดาวน์จากปัญหาโควิด และการย้ายฐานเพื่อเลี่ยงปัญหาสงครามการค้ากับสหรัฐฯ
ด้านค่าเงินบาท มีโอกาสอ่อนค่าแตะระดับ 34.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ จากความกังวลในการลงทุนสินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลกตามปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ส่งผลให้ราคาน้ำมันเพิ่มสูง ซึ่งมีผลให้ไทยขาดดุลการค้า ส่วนรายได้จากการท่องเที่ยวที่ยังอยู่ในระดับต่ำ แต่ค่าขนส่งสินค้าแพงขึ้น อีกทั้งจะมีเงินโอนจ่ายเงินปันผลไปต่างประเทศช่วงไตรมาส 2 ที่มาก ทำให้ไทยขาดดุลบัญชีบริการและรายได้ ประกอบกับในช่วงไตรมาส 2 นี้ ทางเฟดน่าจะขยับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วและแรงเพื่อสกัดเงินเฟ้อ และยิ่งจะส่งผลให้เงินไหลออกจากตลาดพันธบัตรไทย ที่ส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยไทยและสหรัฐฯ จะกว้างขึ้นเร็ว แต่เราเชื่อว่าเงินบาทจะพลิกกลับมาแข็งค่าเทียบดอลลาร์สหรัฐในช่วงครึ่งปีหลังและแตะระดับ 33.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐได้ในช่วงปลายปีจากปัจจัยความเชื่อมั่นที่มีมากขึ้นในตลาดทุนโลกหลังเฟดขึ้นดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไป และตลาดทุนรับรู้ข่าวนี้ไปในช่วงไตรมาส 2 แล้ว ขณะที่ไทยจะเริ่มมีรายได้จากการท่องเที่ยวที่มากขึ้น ราคาน้ำมันเริ่มปรับย่อลงหลังมีการเพิ่มกำลังการผลิตจากฝั่งโอเปกที่มากพอจะทันอุปสงค์น้ำมันที่ปรับขึ้นก่อนหน้า และจากการคาดการณ์ว่าแบงก์ชาติจะเริ่มขยับดอกเบี้ยขึ้นได้หลังเศรษฐกิจไทยฟื้นตัว ซึ่งน่าจะดึงดูดนักลงทุนให้กลับเข้ามาลงทุนในไทยเพื่อเก็งกำไรค่าเงินบาทที่จะแข็งค่าได้ต่อเนื่องในปีหน้า
ด้านอัตราดอกเบี้ย ธนาคารแห่งประเทศไทยน่าจะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 0.50% ต่อปีตลอดทั้งปีเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในช่วงไตรมาส 2 ที่เศรษฐกิจไทยยังขยายตัวต่ำจากการขาดรายได้การท่องเที่ยว อีกทั้งเงินเฟ้อที่เร่งแรงในช่วงไตรมาส 2 มาจากปัญหาด้านอุปทานคือราคาน้ำมันเป็นหลัก ขณะที่เงินเฟ้อจากฝั่งอุปสงค์ยังอ่อนแอดังเห็นได้จากอัตราดอกเบี้ยพื้นฐานยังต่ำ อย่างไรก็ดี ธนาคารแห่งประเทศไทยจะเผชิญแรงกดดันหนักต่อการขยับดอกเบี้ยขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง โดยเฉพาะเมื่ออัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูงกว่ากรอบเป้าหมายลากยาว โดยเรามองว่าคณะกรรมการนโยบายการเงินจะยืนอยู่ที่ทางแยกว่าจะตัดสินใจอย่างไร ระหว่างคงอัตราดอกเบี้ยต่ำเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ หรือขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อและลดแรงกดดันต่อเงินบาทที่อ่อนค่า ทั้งนี้ เราเชื่อว่าหากมาตรการภาครัฐที่ออกมาไม่มากเช่นนี้ ทาง กนง.น่าจะเลือกคงอัตราดอกเบี้ยต่ำเพื่อเร่งให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัว โดยเฉพาะเมื่อเศรษฐกิจไทยยังไม่สามารถกลับไปสูงกว่าระดับก่อนโควิดได้จนถึงต้นปีหน้า โดยเรามองว่าทาง ธปท. น่าจะหามาตรการอื่นนอกจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อรักษาเสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยนและเสถียรภาพของตลาดการเงิน ขณะที่ภาครัฐน่าจะมีบทบาทมากขึ้นในการดูแลค่าครองชีพต่อเนื่องในช่วงครึ่งปีหลัง ทั้งนี้ เราคาดว่า อัตราเงินเฟ้อช่วงไตรมาส 2 อาจเฉียดระดับ 5% และทั้งปีอยู่ที่ 4.5% จากสมมติฐานราคาน้ำมันดิบเบรนต์ที่จะถึงจุดสูงสุดที่ 120 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลในช่วงไตรมาส 2 ก่อนปรับตัวลดลงในช่วงครึ่งปีหลังและเฉลี่ยปีนี้จะอยู่ที่ 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล
อ้างอิง
https://m.mgronline.com/stockmarket